<< นิติกรรม >>
๑. นิติกรรม
คือการใดๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ (ป.พ.พ.ม. ๑๔๙)
กล่าวโดยย่อ นิติกรรม คือ การกระทำของบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมายและมุ่งต่อผลในกฎหมายที่จะเกิดขึ้นอันได้แก่ การเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ มีการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิและระงับซึ่งสิทธิ เช่น สัญญาซื้อขาย, สัญญากู้เงิน, สัญญาจ้างแรงงาน สัญญาให้และพินัยกรรมเป็นต้น
การแบ่งแยกประเภทของนิติกรรม
๑.๑ นิติกรรมฝ่ายเดียวได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวและมีผลตามกฎหมาย ซึ่งบางกรณีก็ทำให้ผู้ทำนิติกรรมเสียสิทธิได้ เช่น การก่อตั้งมูลนิธิ คำมั่นโฆษณาจะให้รางวัล การรับสภาพหนี้ การผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ คำมั่นจะซื้อหรือจะขาย การทำพินัยกรรม การบอกกล่าวบังคับจำนอง
เป็นต้น
๑.๒ นิติกรรมสองฝ่าย (นิติกรรมหลายฝ่าย)ได้แก่ นิติกรรมซึ่งเกิดขึ้นโดยการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปและทุกฝ่ายต้องตกลงยินยอมระหว่างกันกล่าวคือฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาทำเป็นคำเสนอ แล้วอีกฝ่ายหนึ่งแสดงเป็นเจตนาเป็นคำสนอง เมื่อคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันจึงเกิดมีนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นหรือเรียกกันว่า สัญญา เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญากู้ยืม สัญญาแลกเปลี่ยน สัญญาขายฝาก จำนอง จำนำ เป็นต้น
๒. ความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมสัญญา
โดยหลักทั่วไป บุคคลย่อมมีความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา แต่มีข้อยกเว้นคือ บุคคลบางประเภทกฎหมายถือว่าหย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา เช่น ผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ และบุคคลล้มละลาย สำหรับผู้เยาว์จะทำนิติกรรมได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม(ป.พ.พ.ม.๒๑) เว้นแต่นิติกรรมที่ได้มาซึ่งสิทธิโดยสิ้นเชิงหรือเพื่อให้หลุดพ้นหน้าที่ หรือการที่ต้องทำเองเฉพาะตัวหรือกิจกรรมที่สมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการเลี้ยงชีพเหล่านี้ผู้เยาว์ทำด้วยตนเองได้ (ป.พ.พ.ม.๒๒,๒๓,๒๔) ส่วนคนไร้ความสามารถต้องอยู่ในความอนุบาลกิจการใดๆ ของคนไร้ความสามารถผู้อนุบาล ซึ่งแต่งตั้งโดยศาลต้องเป็นผู้ทำเองทั้งสิ้น (ป.พ.พ.ม. ๒๘ วรรคสอง) สำหรับคนเสมือนไร้ความสามารถทำกิจการเองได้ทุกอย่าง เว้นแต่กิจกรรมบางอย่างตาม ป.พ.พ.ม. ๓๔ จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์เช่น สัญญา ซื้อขายที่ดิน เป็นต้น
๒.๑ ผู้มีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา ปกติแล้ว บุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา แต่ยังมีบุคคลบางประเภทเป็นผู้หย่อนความสามารถ กฎหมายจึงต้องเข้าดูแลคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับความเสียหายในการกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำนิติกรรมของผู้นั้น
๒.๒ ผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา
(๑) ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังมีอายุไม่ครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ การทำนิติกรรมสัญญาใดๆของผู้เยาว์
กฎหมายกำหนดให้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม คือบิดามารดาหรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณีเสียก่อน การทำนิติกรรมสัญญาใดที่ปราศจากความยินยอมกฎหมายเรียกว่าเป็นโมฆียะซึ่งอาจถูกบอกล้างภายหลังได้ต่อเมื่ออายุ ๒๐ ปีบริบูรณ์แล้วจึงพ้นจากภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะเป็นผู้เยาว์และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะจึงมีความสามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาได้เอง
แม้จะอายุยังไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ แต่ได้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสแล้วก็ย่อมทำนิติกรรมสัญญาได้ดังเช่นผู้บรรลุนิติภาวะทุกประการ(การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว(มาตรา ๑๔๔๘))
(๒) คนวิกลจริต คือบุคคลที่มีสมองพิการหรือว่าจิตใจไม่ปกติ โดยมีอาการหนักถึงขนาดเสียสติ
ทุกสิ่งทุกอย่าง พูดกันไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
(๓) คนไร้ความสามารถ คือ คนวิกลจริตที่ศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถการที่ศาลจะมี
คำสั่งให้คนวิกลจริตคนใดเป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องมีผู้เสนอเรื่องต่อศาลโดยกฎหมายได้ระบุให้บุคคลดังต่อไปนี้เสนอเรื่อง โดยร้องขอต่อศาลได้ คือสามีหรือภริยาของคนวิกลจริต ผู้สืบสันดานของคนวิกลจริต(ลูก,หลาน,เหลน,ลื้อ) ผู้บุพการีของคนวิกลจริต (บิดา,มารดา,ปู่,ย่า,ตา,ยาย,ทวด) หรือผู้ปกครองหรือผู้พิทักษ์ ผู้ซึ่งปกครองดูแลคนวิกลจริตหรือพนักงานอัยการ (ป.พ.พ. มาตรา ๒๘) เมื่อศาลไต่สวนได้ความว่าวิกลจริตจริงก็จะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาล โดยศาลจะตั้งผู้อนุบาลให้
(๔) คนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลผู้ใดไม่สามารถจะจัดทำการงานของตนเองได้ หรือ
จัดการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเอง หรือครอบครัว เพราะ
๑. กายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
๒. ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ
๓. ติดสุรายาเมา
๔. มีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น
เมื่อบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดดังต่อไปนี้ คือ สามีหรือภริยา ผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดาน หรือผู้พิทักษ์หรือ
ผู้ปกครองหรือผู้ซึ่งปกครองดูแลคนเสมือนไร้ความสามารถ หรือพนักงานอัยการร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลดังกล่าวเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความพิทักษ์ก็ได้(ป.พ.พ. มาตรา ๓๒)
-
ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์
ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ตกเป็นผู้หย่อนความสามารถ กล่าวคือลูกหนี้จะกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการของตนไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำได้ตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล, เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์, ผู้จัดการทรัพย์, หรือที่ประชุมเจ้าหนี้
และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจใน
การจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ และการกระทำการอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น การฟ้องร้อง การต่อสู้คดี การประนีประนอม เป็นต้น
(๖) สามีและภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันจึงต้องให้ความยินยอมซึ่งกันและกัน ในการทำ
สัญญาผูกพันสินสมรส กฎหมายได้วางหลักในเรื่องนี้ไว้ดังนี้
๑. มาตรา ๑๔๗๖ สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนองซึ่ง
อสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(๒) ก่อตั้งหรือกระทำให้สิ้นสุดทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิ
เหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
(๓) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(๔) ให้กู้ยืมเงิน
(๕) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัว เพื่อการกุศล เพื่อ
การสังคมหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
(๖) ประนีประนอมยอมความ
(๗) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
(๘) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้วรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
-
สามีและภริยาจะจัดการสินสมรสให้แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๗๖ ทั้งหมด
หรือบางส่วนได้ก็ต่อเมื่อได้ทำสัญญาก่อนสมรสไว้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๖๕ และมาตรา ๑๔๖๖ ในกรณีดังกล่าวนี้การจัดการสินสมรสให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรส
ในกรณีที่สัญญาก่อนสมรสระบุการจัดการสินสมรสไว้แต่เพียงบางส่วนของมาตรา ๑๔๗๖ การจัดการสินสมรสนอกจากที่ระบุไว้ในสัญญาก่อนสมรสให้เป็นไปตามมาตรา ๑๔๗๖(ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖/๑)
-
การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องได้รับความยินยอมร่วมกันและถ้าการนั้นมี
กฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือ หรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ (ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๗๖)
-
การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ตามมาตรา ๑๔๗๖ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้รับนิติกรรมนั้น(ป.พ.พ. มาตรา ๑๔๘๐)
>> มีต่อฉบับหน้า
ฝ่ายนิติการและการพาณิชย์ สำนักปลัด อบจ.สตูล
.:: Adevil ::.
|